“การตามหาตัวเองให้เจอ” นับเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิตวัยรุ่นเลยก็ว่าได้ มันเป็นช่วงที่มีหนทางต้องเลือก แต่ละทางต้องเจออะไรต่างกันไป แถมปลายทางก็ไม่เหมือนกันอีก เรียกว่าถ้าเลือกผิดมีน้ำตาไหลแน่นอน ชีวิตเราต่อจากนี้อีก 20-30 ปีก็ขึ้นกับการเลือกตอนนี้ มันจะกดดันอะไรเบอร์นั้นเนี่ย
หลายๆ คนยังตามหาตัวเองไม่เจอ จะเข้าคณะอะไร จะเรียนสายไหน หรือกระทั่งเข้ามหาลัยไปแล้วจบมาจะอยากทำงานสายไหนก็ยังไม่รู้เลย วันนี้เรามีข้อแนะนำง่ายๆ มาให้ ลองดูว่าถ้าทำแล้วเราจะเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นมั้ย
คิดสิ่งที่อยากทำให้เป็นคำกริยา ไม่ใช่อาชีพ
คิมยองกวาง ผู้ให้คำปรึกษาแก่เด็กๆ เกาหลีชื่อดังเคยบอกว่า “ความฝันของเราเคยเป็น ‘คำกริยา’ มาก่อนจะกลายเป็นอาชีพที่เป็น ‘คำนาม’” ประโยคนี้หมายความว่ายังไง?
ลองนึกย้อนไปในจุดที่เราเคยคิดแค่ว่า “เราชอบวาดรูปจังเลยเพราะได้ปลดปล่อยจินตนาการ” “เราชอบอ่านหนังสือเพราะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ” “เราอยากสร้างหุ่นยนต์เจ๋งๆ ซักตัวที่ช่วยเหลือคนอื่นได้” แล้วมันตอนไหนกันที่ประโยคพวกนี้เลือนหายไป กลายเป็นเรากดดันตัวเองให้คิดว่า “เราอยากเป็นจิตรกร” “เราอยากเป็นนักเขียน” “เราอยากเป็นวิศวกร”
บางทีทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นเพราะ “คำถาม” ที่เรามักถูกถามมาตั้งแต่เด็กว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ไม่เคยมีใครถามเราว่า “โตขึ้นอยากทำอะไร” คำว่า ‘เป็น’ จำกัดคำตอบเราให้อยู่แค่ในกรอบอาชีพไปโดยไม่รู้ตัว ต่อจากนี้ลองขยายกรอบให้ตัวเอง แล้วตอบคำถามตัวเองให้ชัดๆ ว่า “เราอยากทำอะไร” “เราชอบทำอะไร” “เราถนัดทำอะไร” ใช้เวลากับคำถามเหล่านี้ให้มากพอ อย่ากดดันตัวเองว่าจะต้องตอบได้ใน 3 วัน 5 วัน เราไม่ควรเอาเวลาสั้นแค่นั้นตัดสินชีวิตทั้งชีวิต
แบบทดสอบช่วยชีวิต
มีแบบทดสอบอยู่เพียบในโลกใบนี้ที่มีไว้ทดสอบความถนัด ความชอบ ตัวตนของเรา และเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่ ‘น่าจะ’ เหมาะกับเราในอนาคต ย้ำคำว่า ‘น่าจะ’ เราเชื่อมันได้ประมาณหนึ่ง แต่อย่ายึดถือมันไว้ 100% มันไม่เคยมีแบบทดสอบไหนตัดสินชะตาชีวิตใครได้ทั้ง 100% มันแค่ถูกออกแบบมาให้ช่วยไกด์เราได้ส่วนนึงเท่านั้นเอง
ลองเลือกทำหลายๆ แง่มุม หลายๆ แบบทดสอบ แต่ให้เวลากับมันอย่างเหมาะสม อย่าโหมทำทั้งหมดภายในวันเดียวกัน ที่สำคัญต้องบอกตัวเองว่าเราจะไม่รักษาภาพ คนเราชอบตอบแบบสอบถามอยู่ระดับกลางๆ คือถ้ามี 1-5 ให้เลือก ตัวเลือก 3-4 จะฮอตที่สุด เราต้องกล้าตอบ 1 หรือ 5 ถ้าเรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ ผลที่ได้ก็จะซื่อสัตย์กับเรามากขึ้น ถ้าเราซื่อสัตย์กับตัวเราเอง
ถามคนที่เคยผ่านสิ่งนั้นมาก่อนเรา
เลือกถามให้หลากหลาย แต่ละคนมีความคิดในแบบของตัวเอง เราเลือกถามแค่คนคนเดียวแล้วยึดเอาความคิดเค้ามาใช้กับเราทั้งหมดไม่ได้ เพราะนั่นคือตัวตนของเค้า ความคิดเค้า ประสบการณ์เค้า มันอาจไม่ได้เหมาะกับเรา เราอาจไม่ได้มีพื้นเพมาเหมือนกับเค้าทั้งหมด เพราะฉะนั้น ขั้นตอนนี้ก็เหมือนการเก็บข้อมูลทำงานวิจัย ให้เลือกถามคนที่เข้าเค้าหลายๆ คน เอาความเห็นของทุกคนมาพิจารณาโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ข้อดีของการถามคนที่เคยผ่านมาก่อนก็คือ
เราจะได้ข้อมูลที่เราอาจไม่เคยรู้ เช่น ภาพในหัวเราเป็นแบบนึง เราเคยมโนไว้สวยๆ เลยว่าสิ่งนี้ต้องเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเราฟังคนที่เจอสิ่งนั้นมาจริงๆ เราอาจได้ข้อมูลอีกแบบหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเจอประสบการณ์จากสิ่งเดียวกันเหมือนกันไปซะหมด ฟังแล้วต้องใช้วิจารณญาณส่วนตัวร่วมด้วย
ถ้าเลือกผิด ก็ยังเลือกใหม่ได้เสมอ
ชีวิตไม่เคยมีคำว่าสายเกินไป มีตัวอย่างให้เราเห็นอยู่มากมายสำหรับการเพิ่งมาค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ ในภายหลัง ถ้าเราไม่นิยามว่านั่นคือ ความผิดพลาด คือการหลงทาง ที่ผ่านมาทั้งหมดก็คือบทเรียนและพื้นฐานให้เราก้าวไปสู่สิ่งใหม่
ผู้พันแซนเดอร์ เจ้าของแบรนด์ KFC เป็นมามากมายหลายอย่าง และที่สำคัญคือเป็นทหาร แต่ก็มาค้นพบเอาตอนอายุ 40 ว่าชอบทำอาหารมากกว่า ภาพผู้พันผมขาวเคราขาวที่เราเห็นเป็นภาพจำของ KFC คือผู้พันแซนเดอร์วัย 60 ปีที่เอาตัวเองมาเป็น symbol ของแบรนด์
คุณเมธาวี อ่างทอง ข้าราชการสาวไทย ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการพาตัวเองออกมาสู่สิ่งที่ชอบโดยไม่สนใจอายุเลย เธอลาออกจากการเป็นข้าราชการ จบปริญญาตรีใบที่สองตอนอายุ 48 จบปริญญาโทตอนอายุ 55 เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าโทนดำสุดเท่ชื่อ Black Sugar และพาแบรนด์ไทยไปอยู่บนเวทีแฟชั่นโลกได้ตอนอายุ 59!
เชื่อมั่นในตัวเองอย่างพอเหมาะ และพร้อมพัฒนาตัวเอง รับรองว่าไม่ว่าเราจะเลือกทางไหน เราก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เสมอ
คลิกสั่งซื้อหนังสือ อย่ายอมให้ใครเหยียบฝัน
สามารถหาซื้อหนังสือ ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลแค่ใช้เวลาให้เป็น